ภาพกิจกรรม
  • 30 ม.ค. 2561
 3,951

สหกรณ์ออมทรัพย์กับการพัฒนา คุณภาพชีวิตข้าราชการพนักงาน

การบรรยายพิเศษวันประชุมใหญ่
“สหกรณ์ออมทรัพย์กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตข้าราชการพนักงาน” 


โดย นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา 

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

เนื่องในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี  2548 วันอาทิตย์ที่ 13 ก.พ. 2548

 .......................................................................

 “ผมคิดว่า คนที่ดีควรอยู่กับเรา ความเก่งนี้ Train กันได้ แต่ความดียาก” 

“อัตราดอกเบี้ยของผู้ฝากก็ดี ของผู้กู้ก็ดี ไม่น่าจะเอียงไปทางใดทางหนึ่ง มากจนเกินไป” 

“คนไทยมีวัฒนธรรมที่ทำให้เปลืองสตางค์หลายอย่าง กู้แบงค์ไม่ได้ ก็ไปกู้ใครก็ไม่รู้ที่เขาคิดดอกเบี้ยแพง ๆ แล้วก็มากู้สหกรณ์เอาไปใช้” 

“อย่าไปสร้างมุ้ง ไม่เอามุ้ง ไม่ไหวมุ้งเยอะแยะยุ่ง ยุงมันเต็มไปหมด ในการสร้างมุ้งแม้แต่การเมืองเองก็มีปัญหา อย่าให้มันเกิดมุ้งในสหกรณ์ ”

 ..........................................................................

 

วันอาทิตย์ที่ 13 ก.พ. 2548 วันที่สองของการประชุมใหญ่ หลายคนเริ่มเมื่อยล้า แต่หลังการประชุมวาระการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสหกรณ์ เพื่อเป็นทางเลือกให้ข้าราชการพนักงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถสมัครเป็นสมาชิกหรือสมาชิกสมทบของสหกรณ์ได้ เมื่อที่ประชุมเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ และวาระอื่น ๆ เสร็จสิ้นแล้ว เวลา 11 โมงก็เรียกความกลับมาคึกคักกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง ในเวลาที่ทุกคนรอคอยนั่นคือ บรรยายพิเศษ โดยท่าน ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

สหกรณ์แตกต่างกับบริษัท

 “ที่จริงผมรู่สึกเหมือนเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เพราะผมดูฐานะการเงินของพวกท่านแล้ว มีเงินอยู่เป็นพัน ๆ ล้านแล้วก็หมายรวมทั้งสินทรัพย์ด้วย ผมมาอยู่กระทรวงนี้ 4 เดือนแล้ว สำนักงานปลัดกระทรวงไม่มีสวัสดิการและไม่มีสหกรณ์ ท่านประธานเชิญมาวันนี้ อาจจะสมัครมาอยู่กับท่านก็ได้..”

 

ท่านปลัดเคยเป็นนายทะเบียนสหกรณ์มาหลายปี สมัยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย่อมรู้ลึกตื้นหนาบางของปรัชญาสหกรณ์และระบบสหกรณ์เมืองไทยอย่างดี

 

“สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งนี้ เป็นสหกรณ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง มีสหกรณ์อื่น ๆ เช่น การบินไทย จุฬาฯ ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ค่อนข้างใหญ่ ...

 

“เรื่องแรก สมาชิกทุกคนต้องนึกอยู่เสมอว่า ความแตกต่างระหว่างบริษัทกับสหกรณ์ มีอยู่แน่นอน และเราทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาองคาพยพหรือลักษณะของสหกรณ์เอาไว้ให้ได้ ประการแรก คือบริษัทเขาคิดถึงกำไร ไม่คิดเรื่องอื่นเลย แต่พวกเราในฐานะที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ ภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่า เราเน้นกำไรทางสังคมมากกว่า หลักการนี้มีความสำคัญมาก เรื่องที่ 2 บริษัทเขาเน้นการแข่งขัน เพราะเขาต้องหาลูกค้าให้ได้ เขาต้องขายบริการให้ได้ แต่ว่าสหกรณ์เราเน้นเรื่องการบริการสมาชิก เราเน้นที่การให้สมาชิกอยู่ได้อย่างมีความมั่นคง อย่างเป็นปึกแผ่นให้ได้ เรื่องที่ 3 บริษัทเขาจะเน้นที่ประสิทธิภาพ ใครไม่ได้เรื่องยื่นซองขาวไล่ออก ดูลูกค้าด้วยว่ามีสตางค์จ่ายหรือเปล่า แต่สหกรณ์เราอยู่ด้วยความเมตตาธรรม อยู่กันแบบมิตรจิต หลักการนี้เป็นหลักการที่ผมอยากจะฝากท่านกรรมการและท่านผู้แทนสมาชิกไว้ด้วย เรื่องสุดท้าย เกี่ยวข้องกับเรื่องวันแมนวันโหวต ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นหลักที่พูดกันมานานแล้ว ซึ่งหมายความในแง่ของบริษัท คนที่ถือหุ้นมากกว่าก็มีสิทธิมากกว่า แต่ในสหกรณ์เสียงของพวกเราเท่าเทียมกัน สหกรณ์ไม่มีใครเทคโอเวอร์ได้นอกจากมวลสมาชิกเอง ซึ่งจะมีกลไกการควบคุม มีกลไกการเรียกประชุม การเลือกคณะกรรมการ เรื่องของการประชุมวิสามัญและเรื่องอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

 

คนที่ดีควรอยู่กับเรา  

เรื่องที่สอง ที่ผมอยากจะย้ำเตือนคือ เรื่องการบริหารจัดการ ผมได้เรียนแต่ต้นแล้วว่า คณะกรรมการบริหารส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ถือหุ้นมาก หรือเป็นตัวแทนของคนที่ถือหุ้นใหญ่ หรือเป็นคนที่มีขีดความสามารถที่จะทำกำไรให้กับบริษัทได้มาก คือไม่เก่งก็ต้องรวย หรือทั้งเก่งทั้งรวย แต่ของสหกรณ์เราน่าจะเลือกคนที่น่าเชื่อถือ ผมคิดว่ากรรมการสหกรณ์ควรเป็นคนที่มีจิตใจเป็นธรรม มีความต้องการที่จะรักษาสหกรณ์ไว้ คนเก่งอย่างเดียวเอาไปเป็น Presenter คนที่ดีควรอยู่กับเรา ความเก่งนี้ Train กันได้ แต่ความดียาก สหกรณ์นี้อยู่มาหลายสิบปีแล้ว เราอยู่กันมานานแล้ว ผมเชื่อว่าเรื่อง Trust หรือความเชื่อถือ เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก

 

ดุลยภาพของผู้กู้กับผู้ฝาก 

เรื่องที่สาม ที่ผมอยากจะฝากไว้ก็คือ เรื่องที่มวลสมาชิกจะต้องยึดถือร่วมกัน เพื่อจะให้สหกรณ์ได้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต หลักแรก นั้นคือเรื่องดุลยภาพ ในสหกรณ์เราจะมีคนอยู่สองคน ฝ่ายแรก คือฝ่ายที่เอาสตางค์มาไว้ที่สหกรณ์ อีกฝ่ายก็คือ คนที่จะมาเอาสตางค์จากสหกรณ์ เพื่อเอาไปใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ยของผู้ฝากก็ดี ของผู้กู้ก็ดี การให้บริการต่าง ๆ ไม่น่าจะเอียงไปทางใดทางหนึ่ง มากจนเกินไป ถ้าสหกรณ์เอียงไปในทางเป็นบริษัทมากขึ้น ความหมายก็คือว่า เราให้ผลประโยชน์กับผู้ฝากมากขึ้น ถ้าเอียงในทางผู้กู้มากขึ้น ก็หมายความว่า สหกรณ์กำลังจะกลายเป็นกรมประชาสงเคราะห์ เพราะฉะนั้น ดุลยภาพ ของคนสองประเภทเราต้องดู ซึ่งอันนี้เป็นภาระของฝ่ายบริหารที่ท่านได้เลือกเข้ามา 

 

เร่งสร้างวินัยการออม ให้กู้ตามความจำเป็น 

หลักการต่อมา ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ก็คือ ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่อยากให้พวกเราทุกคนมี ความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นรากฐานของความเป็นอยู่ของสังคมใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็กหรือสังคมใหญ่ สหกรณ์ก็เป็นสังคม ๆ หนึ่งในสังคมใหญ่คือประเทศชาติ มวลสมาชิกต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ก่อน ถ้าไม่จำเป็นต้องกู้ เพื่อไปทำอะไรเลอะเทอะก็อย่าไปกู้ บอกอย่างแต่ไปทำอีกอย่าง สร้างหนี้ให้กับตัวเองเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ระบบสหกรณ์คือระบบที่ต้องการให้เราช่วยตัวเอง ใครที่มีสตางค์ออมบ้างก็ให้มาออมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ มันเป็นการออมที่เสี่ยงน้อยที่สุดในโลก ผมฟังอัตราดอกเบี้ยดีกว่าธนาคาร ดีกว่าไปซื้อหุ้น ปีหน้าถ้าสมาชิกผู้ฝากเพิ่มจาก 20% เป็นครึ่งหนึ่ง แทนที่จะเป็นผู้กู้ก็น่าจะเป็นนโยบายที่ดี เพื่อตัดปัญหา 2 อย่างคือ หนึ่งสภาพคล่อง สองก็คือการสร้างวินัยในการออม วินัยการออมประเทศของเราต้องการที่จะใช้มาก สหกรณ์อาจจะต้องคิดหน่อย ก็คือว่า การให้กู้ตามความจำเป็น คนไทยมีวัฒนธรรมที่ทำให้เปลืองสตางค์หลายอย่าง กู้แบงค์ไม่ได้ ก็ไปกู้ใครก็ไม่รู้ที่เขาคิดดอกเบี้ยแพง ๆ แล้วก็มากู้สหกรณ์เอาไปใช้ เพราะว่าเรื่องนี้ผมต้องเริ่มดูแลในทางของรัฐบาล ผมเชื่อว่าในการจัดการรัฐบาลใหม่คงจะมีวินโดว์สำหรับให้กู้ในลักษณะนี้บ้างเหมือนกัน

 

ความสำเร็จของสหกรณ์อยู่บนพื้นฐานความสามัคคี 

เรื่องสุดท้าย ที่ผมอยากจะฝากคือว่า ความสำเร็จของสหกรณ์ ยังอยู่บนพื้นฐานของ ความสามัคคี นะครับ เรื่องสามัคคีนี้เป็นเรื่องหลัก อย่าทำให้กลไกลของสหกรณ์ เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความแตกความสามัคคี คือ อย่าไปสร้างมุ้ง ไม่เอามุ้ง ไม่ไหวมุ้งเยอะแยะยุ่ง ยุงมันเต็มไปหมด ในการสร้างมุ้งแม้แต่การเมืองเองก็มีปัญหา อย่าให้มันเกิดมุ้งในสหกรณ์ เราต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Sodality หรือว่า ความมั่นคงในจุดเดียวกันในการดำเนินงานของเรา ผมได้ทราบว่าพวกเราได้โหวตกันแล้ว สามกรมแยกกันแต่สหกรณ์นี้ไม่แยกกัน ปรบมือให้ตัวเองหน่อย (เสียงปรบมือ) ผมต้องขอชมเชยอย่างยิ่ง เมื่อเราตกลงไม่แยกกัน เราก็อาจจะมีคนอื่น อาจจะมีกรมอื่นมา Join ด้วยในท้ายที่สุด 

 

หลังจากบรรยายเสร็จท่านปลัดก็ได้โอกาสมาเยี่ยมชมสหกรณ์ และรับประทานกลางวันร่วมกับผู้แทนสมาชิกที่ห้องอาหารวนาลี ก่อนเดินทางกลับ ทิ้งข้อคิดที่มีคุณค่าให้ช่วยกันสมัครสามัคคีสมานฉันท์ เพื่อนำสหกรณ์ก้าวไกล ชีวิตสมดุล แต่การจะไปสู่เป้าหมายได้ทุกคนทั้งคณะกรรมการและสมาชิกต้องช่วยกัน ประหยัดอดออม เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ให้สมกับสโลแกนที่ตั้งกันไว้ 

 

 ............................

การบรรยายพิเศษ

วันประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2548