สหกรณ์ดิจิทัล
  • 30 ม.ค. 2561
 2,236

บันทึกปฏิบัติการล่าฝัน สหกรณ์ ATM

วิชิต สนธิวณิช
นักวิชาการป่าไม้ 8 ว

สหกรณ์เริ่มสานฝันคนช่างออม ด้วยการเปิดรับเงินฝาก “ออมทรัพย์สินมัธยัสถ์” ให้สมาชิก ได้มีโอกาสฝากง่าย ๆ ด้วยการหักจากเงินเดือน แถมช่วยเพิ่มดอกออกผลให้อีกต่างหาก ในราคาที่ไม่ได้คุย รับรองมากกว่าสถาบันการเงินไหนๆ เพื่อช่วยให้คนที่แม้ยังไม่ช่างเก็บก็กลายเป็น คนอยากเก็บบ้าง แต่หลายครั้งที่ที่ได้มีโอกาสพบปะสมาชิกต่างจังหวัด หลายคนบอกว่าอยากฝากเงินกับสหกรณ์ เพราะ ดอกเบี้ยสูงดี แต่ฝากง่ายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ขอให้ถอนง่ายด้วยแล้วจะมาฝาก คนที่ฝากอย่างเดียวไม่ถอน มีเหมือนกันแต่น้อย ฝากแล้วถ้าต้องถ่อสังขารมาถอนที่สหกรณ์แห่งเดียว ดอกเบี้ยที่ได้กับค่าเดินทางไม่คุ้มกัน แม้ช่วงหลังเราจะมี CO-OP PHONE ให้ถอนผ่านโทรศัพท์ได้ แต่ดอกเบี้ยกับค่าโอนผ่านธนาคาร ก็ไม่คุ้มกันอยู่ดี ถ้าสหกรณ์มี ATM เมื่อไรก็จะมาฝากทันที โอเคนะ.. ฟังแล้วตอนนั้นทำได้แต่ถอนใจ สหกรณ์ควรทำอย่างไร จึงจะทำให้การออมของสมาชิกเป็นจริงต่อเนื่องตามอุดมการณ์สหกรณ์ แนวคิด.. สหกรณ์ ATM จึงเริ่มต้นขึ้น

ปี 2544 ฝันลม ๆ แล้ง ๆ

สหกรณ์ ATM เริ่มออกเดินทางมาตั้งแต่ ปี 2544 พร้อม ๆ กับก้าว แรกของ CO-OP PHONE เมื่อ 15 ม.ค. 2544 และการเปิดบัญชี ใหม่ ออมทรัพย์สินมัธยัสถ์ เมื่อ 6 มิ.ย. 2544 แต่ยุ่งยากซับซ้อนกว่า การเดินทางจึงเนิ่นนานกว่า ในวันที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นชอบ ให้กำหนดระเบียบการรับเงินฝากออมทรัพย์ เมื่อ 22 ก.พ. 2544 ในระเบียบที่เราขออนุมัตินั้น มิได้ฝันเพียงแค่ การถอนเงินฝากผ่าน ระบบโทรศัพท์ ที่สหกรณ์เปิดใช้บริการในปีนั้นเท่านั้น แต่เนื้อหาใน ระเบียบยังครอบคลุมถึง สหกรณ์ ATM ด้วย ในตอนนั้นเราก็ไม่คาด คิดว่าจะเป็นความจริงได้ เพราะการถอนเงินฝากสหกรณ์ผ่านตู้ ATM ทั่วประเทศ ถ้าจะเป็นจริงได้สหกรณ์ก็ต้องลงทุนมหาศาล ซึ่งก็ไม่น่า จะเป็นไปได้อีก แต่เราก็ยืนยันให้เขียนไว้ในระเบียบเมื่อปี 2544 เพื่อจะได้ไม่ต้องแก้ไขระเบียบกันบ่อย ๆ เพราะระเบียบเกี่ยวกับเงินฝาก ต้องให้นายทะเบียนเห็นชอบก่อน มีขั้นตอนมีระยะเวลามากมาย เข้ามาเกี่ยวข้อง กรุงโรมมิอาจสร้างเสร็จในวันเดียว เราควรทำ สิ่งที่ทำได้ไปก่อน แต่ก็อดหัวเราะเงียบ ๆ ไม่ได้ กับความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่ไม่น่าจะเป็นจริงได้

ปี 2545 เริ่มเดินหน้าล่าฝัน

ปี 2545  เราเริ่มทดลองเดินหน้าล่าฝัน สหกรณ์ ATM โดยการสำรวจ และศึกษาความเป็นไปได้ โจทย์สำคัญถูกเขียนแปะไว้ข้างฝาเป็นข้อ ๆ เราจะต้องจัดเตรียมระบบองค์ประกอบภายในอะไรบ้าง ต้องลงทุนมาก น้อยแค่ไหน คุ้มค่าหรือไม่ ในปีนั้นเราพบว่า หากสหกรณ์สามารถเชื่อม เครือข่ายกับธนาคารแบบ Real Time สมาชิกจะเดินมาถอน ที่เคาน์เตอร์ สหกรณ์ หรือกดถอนที่ตู้ ATM ก็ไม่แตกต่างกัน สหกรณ์ไม่ต้องลงทุน ซื้อตู้ ATM ตู้ละนับล้านบาท และเครือข่าย เชื่อมโยงอีกนับร้อย นับพันล้านบาท ถ้าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการ ใช้บัตรบ้างจะคุ้มค่าหรือไม่ เราคอยย้ำเตือนตนเองเสมอว่า ถ้าไม่หยุดฝัน ฝันอาจเป็นจริงได้ เมื่อนำข้อมูลชิ้นหนึ่งมาวิเคราะห์ เราพบว่าทั้งสหกรณ์ และสมาชิก ต้องรับภาระค่าธรรมเนียมโอนเงิน ผ่านธนาคารปีหนึ่ง ๆ จำนวนไม่น้อย สหกรณ์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม โอนเงินปันผลให้สมาชิก และสมาชิก ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนเงินกู้ หรือถอนเงินฝาก เข้าบัญชีธนาคาร ที่สมาชิกฝากไว้เป็นค่าคู่สาย ค่าธรรม เนียมอีกหมื่นละสิบบาท รวมค่าธรรมเนียมปีละกว่า 3 – 4 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าบัตร ATM ที่สมาชิกต้องจ่ายอย่างน้อยปีละ 100 บาท รวมสมาชิก 13,000 คน คิดเป็นเงินอีกกว่าล้านบาท รวม ๆ แล้วร่วม 5 ล้านบาท เมื่อพูดคุยกับ ทางธนาคารเบื้องต้น มีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อม เครือข่ายกับธนาคาร แบบ Real Time แต่สหกรณ์ต้องปรับระบบ คอมพิวเตอร์ภายใน พอดีในปีนี้สหกรณ์ได้งบประมาณปรับปรุง ระบบเงินกู้ เงินฝากและ บัญชีแยกประเภท 

 

จากข้อมูลที่เรามีขณะนั้น ในวันที่ 1 มิ.ย. 2545 เราจึงตัดสินใจ ปรับเปลี่ยนโปรแกรม เพิ่มเติมเงียบ ๆ ในวงเงินเดิม โดยการเปลี่ยน ระบบปฏิบัติการจาก Windows 3.11 เป็น Windows Me และ XP ในเวลาต่อมา เพื่อรองรับระบบ ATM ไว้ก่อน เนื่องจากจะรองรับ Software อื่น ๆ ได้มากกว่าและ Speed ที่ดีกว่า ประสบการณ์หลาย ครั้งบอกเราว่า ถ้าก้าวแรกถูกทางมั่นคง ก้าวต่อไปก็สั้นลง แม้ว่าปีนั้น เราจะต้องเวลา ในการปรับระบบนานขึ้น กว่าเดิม เหนื่อยขึ้นยุ่งยากขึ้น หลายค่ำคืนที่ต้อง อยู่ย่ำจนรุ่งสาง 

เราคอยบอกกับตัวเองว่า หากหวังเก็บเกี่ยว ต้องหว่านเมล็ดพันธุ์ โดยไม่ต้องหวังว่าทุก ๆ เมล็ดจะต้องงอกเติบโต ส่วนด้านค่าใช้จ่าย โครงการ เมื่อลองมาคำนวณดูแล้ว ก็ไม่มากมายเท่าที่คิด เราตกลง เบื้องต้น กับธนาคารเป็นค่าบัตรปีละ 200 บาทต่อบัตร ถ้าสมาชิกทุกคน ทำบัตร จะเสียค่าบัตรปีละ 2.7 ล้านบาท ซึ่งก็น้อยกว่าค่าธรรมเนียม ธนาคาร ค่าโอนค่าบัตรปีละร่วม 5 ล้านบาทอยู่ดี เพราะเงื่อนไขสำคัญ ก็คือ สมาชิกต้องสามารถระบุ จังหวัดไม่เสียธรรมเนียมการถอน ข้ามเขตได้ ค่าใช้จ่ายโครงการนอกจากนั้น จากการศึกษาพบว่าเรายัง ต้องทำ โปรแกรมเพิ่ม ซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อ รวมอีกประมาณ 1 ล้านบาท เมื่อหลักการแนวคิดและประมาณการ ค่าใช้จ่ายลงตัว คุ้มค่ามี ความเป็นไปได้ ไม่เกินกำลังสหกรณ์ ปลายปี 2545 เราจึงได้ข้อสรุป จัดทำแผนงานงบประมาณโครงการสหกรณ์ ATM เพื่อขออนุมัติต่อที่ ประชุมใหญ่ในวันที่ 15 – 16 ก.พ. 2546


เนื่องจากบัตร ATM ต้องคู่กับบัญชีเงินฝาก และสมาชิกสหกรณ์ กรมป่าไม้ อยู่กระจัดกระจายทั่วทุกจังหวัดทั่วประเทศ การเปิดบัญชี ให้ทั่วถึง ต้องใช้ระยะเวลานานเป็นปี ๆ โครงการ ATM ย่อมล่าช้าไปอีก และยิ่งไม่อาจเป็นจริงได้ หากขาดฐานจำนวนบัญชีเงินฝากรองรับ เนื่องจากขณะนั้นสมาชิกกว่าร้อยละ 90 ยังไม่รู้จักบัญชีเงินฝากสหกรณ์ วันที่ 30 พ.ย. 2545 สหกรณ์จึงได้เปิดบัญชีเงินฝาก ให้กับสมาชิกทุกคน โดยสมนาคุณเงินเปิดบัญชีให้คนละ 100 บาท ตามโครงการ “เรียงร้อยใจ หนึ่งร้อยบาท” โดยมุ่งหวังให้สมาชิกทุกคนมีบัญชี เงินฝากกับสหกรณ์

ปี 2546 ฝันแล้วรอหน่อย

ปี 2546  ที่ประชุมใหญ่อนุมัติงบประมาณโครงการสหกรณ์ ATM เป็นค่าโปรแกรมค่าอุปกรณ์ 1 ล้านบาท ค่าทำบัตรให้สมาชิกทุกคนอีก 2.7 ล้านบาท โครงการก็เริ่มเดินหน้า มีการประชุมร่วมกับธนาคาร อย่างเป็นทางการ มีการต่อรองค่าธรรมเนียมในกรณีที่สมาชิก ทำบัตรมากกว่า 3,000 บัตร รวมทั้งการโอนเงินระหว่างบัญชี แต่ด้วยเหตุที่ธนาคารซึ่งพร้อมที่จะเชื่อมต่อระบบแบบ Real Time กับสหกรณ์ ต้องปรับระบบภายใน Core Bank ซึ่งใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ให้ทันกับการแข่งขันของธนาคารยุคใหม่ ให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมา จับงานใหม่ สหกรณ์ ATM เลยต้องหยุดพักเวทีชั่วคราว นักมวยมิอาจขึ้นเวทีฝ่ายเดียวได้ แม้ว่าใจพร้อมจะลุยแค่ไหน ในปีนี้งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่ได้ใช้ แต่สรุปกันว่าจะขอตั้งงบประมาณ อีกครั้งในปี 2547


ปี 2547 ฝันเริ่มข้าม..สู่ความเป็นจริง

ปี 2547 หลังจากที่ประชุมใหญ่อนุมัติโครงการและงบประมาณ ในช่วงครึ่งปีแรก Core Bank ซึ่งเป็นภารกิจหลักของธนาคาร ยังไม่เสร็จสิ้น ไม่พร้อมที่จะเชื่อมต่อระบบหรือทำข้อตกลงใด ๆ กับสหกรณ์ สหกรณ์เริ่มหารือกับธนาคารอื่น ๆ ในช่วงนี้มีหลายสหกรณ์ เริ่มให้บริการเงินกู้ฉุกเฉิน โดยไม่มีการถอนเงินฝากสหกรณ์ผ่านธนาคาร แต่ไม่ใช่ระบบ Real Time ซึ่งปรับปรุงข้อมูลทันที หลายครั้งที่สับสน ท้อแท้ เนื่องจากโครงการเชื่องช้าเนิ่นนานเกินไป จนเกือบเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนธนาคาร แต่ในที่สุดคณะกรรมการดำเนินการ ก็ยืนยันใน หลักการเดิม คือ ต้องการให้ระบบสหกรณ์ ATM ส่งเสริมการออมทรัพย์ รับเงินฝากจากสมาชิกเป็นหลัก และเป็นระบบ Real Time เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบเฟสต่อ ๆ ไปในระยะยาว เทคโนโลยีควรนำมาเพื่อรับใช้อุดมการณ์สหกรณ์ ในปีนี้เราเปลี่ยน คอมพิวเตอร์เซฟเวอร์ใหม่ และระบบปฏิบัติการเป็น Windows 2003 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2547

สำหรับการโอนเงิน ระหว่างบัญชีถูกทดแทนโดยโครงการ 
CO-OP @ Bank สหกรณ์ทางธนาคาร เมื่อ วันที่ 1 ต.ค.2547 เพื่อให้สมาชิกได้รับความสะดวกฝากเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคาร โดยไม่ต้องไปที่สหกรณ์ ไม่เสียค่าธรรมเนียม และไม่ต้องแจ้งสหกรณ์ และเพื่อให้สหกรณ์ ATM ได้รับความสนใจจากสมาชิกยิ่งขึ้น จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการรับฝากเงินออมทรัพย์ รองรับการถอน เงินผ่าน ATM จากเดิม 20,000 บาท ซึ่งหลายท่านบอกว่าน้อยไป เพิ่มเป็นถึงวันละ 50,000 บาท ในวันที่ 13 ธ.ค. 2547 ส่วนด้านการ พุดคุยกับธนาคารก็ยังเดินหน้าต่อไปอีกหลายยก จนในที่สุดก็บรรลุ ข้อตกลง โดยคณะกรรมการดำเนินการอนุมัติให้สหกรณ์ ลงนามข้อตกลงร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาระบบ สหกรณ์ ATM ในวันที่ 19 พ.ย. 2547 เมื่อโครงการเป็นรูปธรรม เราเริ่มลุยทันที สั่งซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น เดินหน้าพัฒนาโปรแกรมที่ธนาคาร เพิ่งเปิดเผยรูปแบบสถาปัตยกรรม ในการเชื่อมต่อระบบกับธนาคารและตู้ ATM ในทันที

 

ปี 2548 ฝันที่เป็นจริง..

ปี 2548  การติดตั้งคอมพิวเตอร์ Lease Line, Firewall อุปกรณ์ต่าง ๆ และการพัฒนาโปรแกรม ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. ก็ล่วงมาถึง 10 พ.ค. จึงได้เริ่มทดสอบการเชื่อมต่อระบบกับธนาคาร ถึงใช้งานจริงโดยแบ่งเป็นหลายขั้นตอน 

ขั้นแรก เริ่มเป็นการเชื่อมต่อ ส่งข้อมูลทั่ว ๆ ไปให้ทะลุผ่านด่าน รักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ทั้งของสหกรณ์ และด่านระบบรักษาความ ปลอดภัย ของธนาคารทีละด่าน การทดสอบ Software การส่งข้อมูล แปลกปลอมต่าง ๆ เมื่อทดสอบการสื่อสารจนมั่นใจแล้ว เข้าสู่ 

ขั้นที่ 2 การทดสอบโปรแกรมระบบจำลอง เสมือนใช้งานจริง กับตู้ ATM จริงแต่บรรจุเงินกระดาษ และบัญชีเงินฝากสมมุติ โดยกดตู้ ATM แบบต่าง ๆ สมมุติการถอนข้ามเขตข้ามจังหวัด การทดสอบ Stress Test โดยจำลองการส่งข้อมูลจำนวนมาก จากตู้ ATM 
หลาย ๆ ตู้มาที่สหกรณ์พร้อม ๆ กัน เพื่อดูว่าระบบของสหกรณ์ จะสามารถรองรับการทำงานได้หรือไม่ ทดสอบผลรายงานสรุปบัญชี ฝั่งธนาคารและฝั่งสหกรณ์ ว่ามีข้อแตกต่างกันหรือไม่ เช่น ถ้าสมาชิก ถอนเงินแต่ไม่ได้เงิน อันเนื่องปัญหาจากตู้ สหกรณ์จะทราบได้อย่างไร มีวิธีการอย่างไรในการบวกเงินคืนหักเงินจากบัญชี ให้ถูกต้องภายใน เสี้ยววินาที 
ในขณะเดียวกัน ระหว่างนี้ต้องออกแบบบัตร ATM รูปแบบบัตรต้อง สามารถสื่อความหมาย ของความเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ได้ แนวคิดหลากหลายถูกนำไปทำบัตรแบบต่าง ๆ เกือบ 10 แบบ ในที่สุด ก็ได้รูปแบบที่ลงเอยได้ เมื่อปัญหาต่าง ๆ แก้ไขได้หมดแล้วจากการ ประชุมสรุปผล การงานตรวจสอบ และการอนุมัติจาก 7 – 8 หน่วยงาน ย่อยตามมาตรฐานของธนาคาร ก็สามารถเริ่ม 

ขั้นที่ 3 การทดสอบบัตรจริง 3 บัตร โดยบัญชีเงินฝากจริง ของผู้จัดการ ผู้ช่วยฯ และเจ้าหน้าที่ไอที กดเงินจากตู้ ATM จริง ๆ ขั้นนี้เสมือนการใช้งานจริงทุกประการ ทดสอบการถอนแบบต่าง ๆ การถอนเกินกว่าเงินในบัญชี รวมทั้งการ Settlement ทางบัญชี เพื่อตัดยอดเงินจากบัญชีกระแสรายวันจริง เพื่อให้ยอดเงินทั้ง 2 ฝ่าย ธนาคาร – สหกรณ์ จะต้องถูกต้องตรงกัน รวมทั้งการทดสอบคำนวณ ดอกเบี้ย อันเนื่องมาจากการทำรายการถอนว่า เงินที่เหลือดอกเบี้ย ถูกต้องหรือไม่ การทดสอบกรณีเครื่องยึดบัตร หรือไฟฟ้าดับก่อน ได้รับเงิน ซึ่งตู้ ATM จะต้องส่งข้อมูลกลับมาที่สหกรณ์ เพื่อคืนยอด เงินที่ถูกตัด หลังจากที่ประชุมอยู่หลายรอบแก้ปัญหาได้หมดสิ้นแล้ว ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดก็เข้าสู่ 


ขั้นที่ 4 การทดสอบบัตรจริง 38 บัตร โดยกรรมการ เจ้าหน้าที่ สหกรณ์ และผู้แทนสมาชิกในต่างจังหวัดให้ความร่วมมือ ขั้นนี้ เหมือนการใช้งานจริงทุกประการ แต่ใช้จำนวนบัตรทดสอบมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ ที่มิได้คาดคิดไว้ก่อน และกำหนด กระบวนการ ในการแก้ไขปัญหา มีการทดสอบการถอนเงินข้ามเขต ข้ามจังหวัดจำนวนมากขึ้น การถอนช่วงเงินเดือนออก การถอนหลัง 23.00 น. ผลสรุปต่าง ๆ เป็นที่น่าพอใจ ก็ทันกำหนดในการเข้าสู่ 
ขั้นที่ 5 การเปิดใช้บริการสู่สมาชิก ในวันที่ 28 กันยายน 2548 เพื่อให้ทันวันเกิดสหกรณ์ รวมทั้งการลงนาม ในสัญญากับธนาคาร ด้วยในวันเดียวกัน 

แม้จะต้องทดสอบกันหลายขั้น แต่ละขั้นตอนผ่านไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็เพื่อให้ สหกรณ์ ATM เมื่อเปิดบริการแล้วเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำที่สุด สมาชิกได้รับความสะดวกสบาย ใช้เวลาในการถอน เงินจริงจากตู้ ATM มาที่สหกรณ์แล้วตอบกลับเพียงเสี้ยววินาที

เมื่อสมาชิกสอดบัตร ATM สหกรณ์ที่ตู้ ATM ณ ที่ใดที่หนึ่ง จังหวัดใด จังหวัดหนึ่ง ตู้นั้นจะรู้ทันทีว่าเป็นบัตรสหกรณ์ เมื่อตรวจสอบสถานการณ์ สมัครว่า ข้ามเขตหรือไม่แล้ว หากข้ามให้คำนวณค่าธรรมเนียมด้วย แล้วตู้ ATM จะยิงข้อมูลไปที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ ของธนาคารสำนักงาน ใหญ่กรุงเทพ โดยการส่งข้อมูลเป็นรหัสลับเพื่อป้องกันเฮกเกอร์ แล้วข้อมูล โค้ดลับดังกล่าวจะวิ่งต่อมาที่สหกรณ์ เมื่อสหกรณ์ได้รับก็จะถอดรหัส แปลความหมาย นำข้อมูลไปตรวจสอบยอดเงินตามบัญชี หากถอนไม่เกิน เงินที่มีในบัญชี สหกรณ์ก็จะส่งคำสั่งอนุมัติ พร้อมแจ้งยอดเงินคงเหลือ โดยก่อนส่งข้อมูลจะถูกแปลงเป็นโค้ดลับก่อน แล้วจึงยิงไปที่ธนาคาร ซึ่งจะส่งต่อไปที่ตู้ ATM นั้น ๆ ทันที เมื่อตู้แปลความหมาย ของรหัสลับได้แล้ว เครื่องจ่ายเงินก็จะพิมพ์ยอดคงเหลือลงในสลิป หรือแสดงเป็นยอดเงินเมื่อทำรายการถามยอด เมื่อตู้ทำรายการเสร็จ เรียบร้อย ก็จะแจ้งผลเป็นรหัสมาที่ธนาคาร และส่งต่อมายังสหกรณ์ เมื่อสหกรณ์แปลรหัสได้แล้ว ก็จะกระทบยอดเงินและบันทึกข้อมูล อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที และถ้าสมาชิก เดินมาถอนเงินที่เคาน์เตอร์อีก ก็จะต้องไม่มีปัญหาใด ๆ ข้อมูลที่ถอนจากตู้ ATM ก็จะถูกพิมพ์ลงในสมุดคู่ฝาก เพื่อให้สมาชิกไว้ตรวจสอบ ได้ทันทีทันใด

แม้ทุกขั้นตอนจะเสร็จสิ้น แต่งานอื่น ๆ เพิ่งเริ่มต้น คนทำงาน เลยต้องเร่งสปีด เต็มลูกสูบ งานใหญ่ระดับนี้ถ้าไม่มีแผน ประชาสัมพันธ์หรือโปรโมชั่นกันเลย คงจะจืดชืดเกินไป แต่โครงการตาม แผนประจำปีมีหลายอย่าง ตั้งแต่การสมัครสมาชิกใหม่ การทำบัตร การส่งเสริมการฝากเงิน หากออกมาพร้อม ๆ กัน อาจสร้างความสับสน และไม่ได้รับความสนใจจากสมาชิก แผนโฆษณาจึงถูกกำหนดขึ้นหลังจาก Creative คิดแล้วคิดอีก เพื่อรวมทั้งหมดให้เป็น Single Idea ตรงเป้าหมายและสมาชิกจะได้จดจำโฆษณาได้ง่าย ๆ เนื้อหาหลัก ของการประชาสัมพันธ์ จึงถูกวางไว้ที่การส่งเสริมการออมทรัพย์ ตามเป้าหมายโครงการและตามอุดมการณ์สหกรณ์ เมื่อทุกอย่างลงตัว ก็เริ่มเขียน Script ข้อทำแผ่นพับชุดต่าง ๆ ถ่ายภาพ ส่งโรงพิมพ์ ตรวจแก้ไขต้นฉบับ ออกแบบป้าย โปสเตอร์ต่าง ๆ แบบฟอร์ม ใบสมัครสมาชิก CO-OP Phone การกู้ฉุกเฉิน การถอนทางโทรศัพท์ ที่ยุ่งยากหลาย ๆ แผ่นถูกตัดทอนให้สั้นลง เหลือแผ่นเดียวกรอกง่ายขึ้น โดยเป็นทั้งใบสมัคร ATM และทุก ๆ อย่าง นอกจากนี้ยังมีเบอร์โทร Hot line จะต้องหาเบอร์ที่จำง่าย ๆ และการทำ Script เวบไซด์ และ Design Animation ต่าง ๆ ต้องอัพเดทกันใหม่ให้ทันสถานการณ์ ถ้ามีสมาชิกสงสัย จะสามารถหาคำตอบได้ง่าย ๆ ไม่เสียเวลา และที่สำคัญจะต้องซักซ้อมผู้ปฏิบัติในขั้นตอนต่าง ๆ เมื่อทุกอย่างลุล่วง และคณะกรรมการดำเนินการ อนุมัติโครงการ 3 ฝันคนช่างเก็บ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2548 เตรียมรางวัลไว้แจกอีกเพียบ เรียกความคึกคัก พร้อมเปิดรับสมัครในวันที่ 15 ส.ค. 2548 และพร้อมเปิดให้บริการ เป็นปฐมฤกษ์ 28 ก.ย. ย่างสู่..ปีที่ 28 ของสหกรณ์พอดี..

 

สานฝัน...สู่อนาคต

ต้องบอกว่า กว่าดอกไม้จะผลิบานต้องผ่านกาลเวลาและความเหนื่อยยาก เกือบ 5 ปี แห่งความพยายาม ของคณะกรรมการดำเนินการ 5 สมัย ตั้งแต่ ชุดที่ 24 – 25 – 26 – 27 และชุดที่ 28 ในปัจจุบันที่ช่วยกัน ต่อจิ๊กซอเพื่อให้ ทศวรรษแห่งการอดออม เป็น ภาพที่สมบูรณ์ เพื่อความหวังที่จะเห็นคนสหกรณ์ มีรากฐานที่มั่นคงของชีวิตและ ครอบครัว มิใช่สุดท้าย ถูกมองด้วยสายตาว่า คนสหกรณ์คือกลุ่มคน ที่มีแต่หนี้สิน หรือสหกรณ์เป็นแหล่ง รวมพลคนเป็นหนี้ ถึงเวลาแล้วที่ภาพเหล่านี้จะค่อยๆ เลือนหาย มีแต่เราด้วยกันเท่านั้น จะช่วยกันเปลี่ยน สหกรณ์ของเรากันเอง

เราจะเป็นสหกรณ์ที่รวมพลคนช่างเก็บ(ออม)แทน เราจะมีรากฐานชีวิตที่แน่นขึ้นๆ พวกเราจะมี ขุมทรัพย์ของเราเอง ไว้ใช้ยามขัดสนและเกษียณ เราจะเป็นผืนป่าใหญ่อันสมบูรณ์ พร้อมฟันฝ่าลมฝน และพายุร้ายของชีวิตในภายหน้า

สหกรณ์ ATM เป็นเพียงก้าวแรก เมื่อการให้บริการและระบบเสถียรดีแล้ว อีกหลายก้าว ที่จะสานต่อ ๆ มา 
ทั้งการโอนเงินเดือนจ่ายตรงเข้าบัญชีสหกรณ์ 
การกู้เงินตามวัตถุประสงค์หรือฉุกเฉินผ่านตู้ ATM 
การโอนเงินระหว่างบัญชีสหกรณ์และบัญชีธนาคาร 
การจ่ายเงินกู้ เงินปันผล เฉลี่ยคืนเข้าบัญชีสหกรณ์ ซึ่งจะทำให้สมาชิกได้รับเงินกู้ ที่เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก 
และการพัฒนาไปสู่ e-CO-OP ที่เชื่อมโยงข้อมูลบางส่วนเข้ากับระบบ internet เพื่อฝันที่เป็นจริงของคนช่างเก็บ....

อนาคตทอดยาวไกล..แต่เอื้อมถึงด้วยมือเรา

วันนี้.. เรามาเริ่มต้นเดินทางด้วยกัน...ปฏิบัติการล่าฝัน ของคนช่างเก็บ(ออม) ภาค 2