สาระน่ารู้
  • 30 ม.ค. 2561
 466,084

เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นความผิดอาญาแผ่นดินอันยอมความไม่ได้

รูปภาพจาก azernews

โดย จงเจริญ กิจสำราญกุล

 

สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรม 2 ฝ่าย เกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาตรงกัน ของคู่สัญญา ดังนั้น คู่สัญญาจะตกลงกันว่า จะกู้ยืมเงินจำนวนเท่าใด จะคิดดอกเบี้ยต่อกันหรือไม่ ถ้าตกลงว่าจะคิดดอกเบี้ย จะต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเมื่อมีการส่งมอบเงินที่กู้ยืม สัญญากู้ยืมเงินก็จะบริบูรณ์หรือ สมบูรณ์ตามกฎหมาย

กรณีหลักฐานการกู้ยืมเงิน และการชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 653 บัญญัติไว้ว่า

 

การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

 

ในการกู้ยืมเป็นหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐาน เป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐาน แห่งการกู้ยืมนั้น ได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

 

สำหรับเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน ก็ต้องเป็นไปตาม ข้อตกลง คือไม่ต้องเสียดอกเบี้ยถ้าคู่สัญญาตกลงกันว่า จะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน แต่ไม่ได้กำหนด อัตราดอกเบี้ยไว้อย่างชัดแจ้ง กฎหมายกำหนดให้ เสียดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหน้าที่(ผู้ให้กู้) ในอัตรา ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบท กฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี"

 

คำพิพากษาฏีกา ที่ 497/2506 สัญญากู้มีข้อความว่า "จำเลยยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ตาม กฎหมาย" ถือว่ามีอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี 

 

คำพิพากษาฏีกา ที่ 3708/2528 สัญญากู้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้เพียงว่า "ยอมให้ดอกเบี้ยตาม กฎหมายอย่างสูง" ข้อความดังกล่าวไม่ได้กำหนด อัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้งว่าเป็นอัตราอย่างสูง เท่าใด ต้องตีความในทางเป็นคุณแก่ฝ่ายลูกหนี้ คือ อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

 

การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติว่า "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ สิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี" ซึ่ง มาตรา 654 นี้ อยู่ในบรรพ 3 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2474 แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้มีพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ประกาศใช้บังคับ ซึ่ง มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า

 

บุคคลใดให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ มีความผิดฐานเรียก ดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

ดังนั้น การกู้ยืมเงินโดยตกลงคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยนี้ไม่ชอบด้วย กฎหมายที่กำหนดว่าเป็นความผิดและมีโทษอาญา ดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะทั้งหมด ไม่ใช่เป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยส่วนที่เกินร้อยละ 15 ต่อปี

 

คำพิพากษาฎีกา ที่ 567/2536 เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กู้อัตราร้อย 19.5 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ข้อกำหนด อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียก ดอกเบี้ยจากจำเลยตามสัญญา

 

คำพิพากษาฎีกา ที่ 1452/2511 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงิน 14,000 บาท จำเลยให้การว่า กู้และรับเงินเพียง 10,000 บาท จำเลยชำระแล้ว ส่วนอีก 4,000 บาท โจทก์เอาดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน จำนวน 8 เดือน มารวมเข้าเป็นเงินต้น เป็นคำให้การที่ต่อสู้ว่าหนี้ตามสัญญากู้ จำนวน 4,000 บาท ไม่สมบูรณ์ จำเลยนำสืบได้ และเมื่อฟังได้ตามคำให้การ ดอกเบี้ย 4,000 บาท เป็นดอกเบี้ยที่เกินอัตราตกเป็นโมฆะทั้งหมด ไม่ใช่เป็นโมฆะเฉพาะส่วนที่เกิน และเมื่อจำเลยชำระหนี้ 10,000 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป

 

คำพิพากษาฎีกา ที่ 5781/2533 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ จำนวน 84,000 บาท แต่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้จำนวนดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การว่า เป็นหนี้โจทก์ จำนวน 33,000 บาท โดยได้ความว่า เป็นหนี้ต้นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็น ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงิน 10,000 บาทได้ ส่วนเงินอีก 23,000 บาท เป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงตกเป็นโมฆะแม้จำเลยจะให้การยอมรับ จะชำระหนี้เงินจำนวนนี้ ก็บังคับให้ไม่ได้

ความผิดตาม พระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพุทธศักราช 2475 ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นคดีอาญาแผ่นดิน ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ 

 

ดังนั้น นายทุนเงินกู้ทั้งหลาย ที่เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หรือเกินกว่าร้อยละ 5 สลึงต่อเดือน ต้องพึงสังวรไว้